ถาวรวัตถุ

6464

ถาวรวัตถุ


ถาวรวัตถุของวัดที่มีอยู่ในบัดนี้ คือพระอุโบสถ เสาและฝาผนังถึงขื่อก่ออิฐถือปูน เครื่องบนทำด้วยไม้หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้าใบระกา มุงด้วยกระเบื้อง ดินเผาธรรมดาเข้าใจว่าเป็นแบบทรงอยุธยา วัดภายนอก เฉพาะตัวพระอุโบสถ ยาว ๒๒.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร พะไล1 ด้านหน้าและด้านหลัง พระอุโบสถยาวด้านละ ๔.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร ภายในตัวพระอุโบสถ ยาว ๑๙.๕๒ เมตร กว้าง ๗.๙๒ เมตร สูงจากพื้นถึงท้องขื่อ ๙.๕๗ เมตร ภายในพะไล ๒ ข้าง ยาวข้างละ ๓.๓๖ เมตร กว้าง ๙.๘๐ เมตรเท่ากัน หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนล่างก่ออิฐถือปูน ตอนบนใช้ไม้ แกะสลักเป็นลวดลายก้านขดมีเทวดาถือพระขรรค์ประทับนั่งบนแท่น อยู่ท่ามกลางลงรักปิดทอง ประดับกระจกเหมือนกันทั้ง ๒ ข้าง ชุ้มประตูด้านหน้า ด้านหลังพระอุโบสถ ภายในพะไลแลซุ้มหน้าต่างภายนอกด้านข้างทั้ง ๒ ของพระอุโบสถ ทำลวดลายด้วยปูน มีช่อฟ้าใบระกา ปิดกระจก

บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถด้านนอก พื้นลงรักเรียนลายรดน้ำ2 ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ที่หน้าต่างลบเลือนไป หมดแล้วยังเหลือปรากฏอยู่ที่บานประตู บ้างเพียงบางส่วน

ภายในพะไลด้านหน้าและด้านหลัง ที่เสาพะไลและที่ฝาผนังพระอุโบสถข้างนอกเขียนด้วยสีเป็นลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนเหนือเสาพะไลขึ้นไป เขียนภาพต่างๆ ข้างพะไลด้านหน้ายังปรากฏอยู่บ้าง แต่ทางด้านหลังชำรุดลบเสียหมดแล้ว ภายในพระอุโบสถ ที่กำแพงฝาผนังทั้ง ๔ ด้านของพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ เขียนไว้เป็นตอนๆ คือ ตั้งแต่พื้นพระอุโบสถขึ้นไปถึงขอบธรณีล่างของหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ดอกไม้ไว้โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ตั้งแต่เหนือขอบธรณีล่างขึ้นไปถึงขอบธรณีบนของหน้าต่างเขียนภาพพระพุทธประวัติไว้ ๓ ด้าน คือ ที่กำแพงด้านหน้าและด้านข้างทั้ง ๒ ของ พระ อุโบสถ ส่วนที่กำแพงด้านหลังในระดับนี้ เขียนภาพยมโลก ตั้งแต่ขอบธรณีบนขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม ๓ ชั้นไว้ที่ฝาผนังด้านข้างทั้ง ๒ ส่วนที่ฝาผนัง ด้านหน้าในระดับเดียวกัน เขียนภาพมารวิชัย ที่ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพมนุษยโลกและเทวโลกที่บานหน้าต่างทุกบาน มีภาพเทวรูปยืนประนมมืออยู่บน แท่นและที่บานประตูทุกบาน มีภาพยักษ์แบกแท่นซึ่งมีเทวรูปยืนประนมมืออยู่เบื้องบน

เหนือธรณีข้างบนตรงช่องประตูและหน้าต่างทุกช่อง มีฉากภาพแกะสลักด้วยไม้สักเป็นรูปดอกไม้ทารักปิดทอง ภายในฉากมีภาพเขียนเรื่องพระสมุทโฆษ รวม ๒๖ รูป ข้างฐานชุกชีหน้าพระประธาน มีโต๊ะบูชาหมู่ ๗ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ปิดทอง

รอบนอกจากลานพระอุโบสถ มีพระระเบียงรายรอบทั้ง ๔ ด้าน วัดรอบนอก ยาว ๖๒.๒๐ เมตร กว้าง ๔๒.๒๕ เมตร

วิหาร ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หอ ศาลา ๑ หลัง กุฏิ ๘ หลัง ครัว ๒ หลัง

1 พะไล – พื้นเรือนหรือพื้นอาคาร ที่ต่อออกจากด้านหัวและท้ายเรือน หรืออาคาร แล้วทำหลังคาคลุม หลังคานี้ลาดเทออกไปจากใต้กันสาดของอาคารใหญ่ ลักษณะของพะไล จะไม่มีฝากั้นปล่อยเปิดโล่งไว้
2 ลายรดน้ำ คือ การเขียนลวดลายให้ปรากฏเป็นลายทอง ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด การเขียนลายจะใช้น้ำยาหรดาล เขียนบนพื้น ซึ่งทาด้วยยางจากต้นรัก เขียนเสร็จเช็ดรักออก ปิดทองแล้วเอาน้ำรดน้ำยาหรดาล ซึ่งจะหลุดออกเมื่อถูกน้ำ ส่วนที่เป็นลายทองจะติดอยู่ ลวดลายที่ปรากฏหลังการรดน้ำแล้ว จะเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือแดง