การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป
การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จึงปรากฏว่า ภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อย เป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษา การปครอง และการแนะนำสั่งสอนประชาชน ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้น สำหรับสอนภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก นับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงหัดแต่งแก้กระทู้ธรรม เมื่อทรงเห็นว่า การเรียนการสอนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยดังนี้ได้ผล ทำให้ภิกษุสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้น เพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก จึงทรงดำริที่จะขยายแนวทางนี้ไปยังภิกษุสามเณรทั่วไปด้วย ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งภิกษุทั้งหมดจะได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณร จะยกเว้นให้เฉพาะสามเณรผู้รู้ธรรม ทางราชการได้ขอให้คณะสงฆ์ช่วยกำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงกำหนดหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น ต่อมาได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น องค์นักธรรม สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยใช้วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้ มี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาคในนวโกวาท แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้เหมาะสมสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปจะเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยแบ่งหลักสูตรเป็น ๒ อย่างคือ อย่างสามัญ เรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม และ อย่างวิสามัญ เพิ่มแปลอรรถกถาธรรมบทมีแก้อรรถ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์ และวินัยบัญญัติที่ต้องสอบทั้งผู้ที่เรียนอย่างสามัญ และวิสามัญ
พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุสามเณรรูปนั้นๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมจากหมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพียง ๒ ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูป เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป ในเวลาต่อมา จึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา มีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมนี้ มี พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เน้นการพัฒนาศาสนทายาทให้มีคุณภาพสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ทั้งถือว่าเป็นกิจการของคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีตถึงปัจจุบัน
ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแพร่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม ได้ดำเนินการเข้าอบรมศีลธรรม จริยธรรมและสอนธรรมศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ โดยมีนักเรียนนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป สนใจกิจกรรมของศูนย์ฯ เป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องด้วยงานเผยแผ่ธรรมของศูนย์พระสงฆ์ฯ ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นทุกปี จึงทำให้การพิมพ์หนังสือคู่มือการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ทางศูนย์ ฯ จึงได้ จัดทำคู่มือธรรมศึกษาขึ้น เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้สามารถเรียนรู้ศัพท์ธรรมะจนเข้าใจ ขยายเนื้อหาธรรมะได้อย่างถูกต้องตลอดทั้งนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเพียงพอ ทางศูนย์ฯ จึงได้จัดพิมพ์คู่มือธรรมศึกษาชั้นตรีขึ้น โดยได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยม บริษัทห้างร้านและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
อนึ่ง คู่มือธรรมศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อเป้นแนวทางการเรียนการสอนธรรมศึกษาของศูนย์ฯ และเผยแผ่ไปตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ร่วมกับศูนย์ฯ เปิดสอนธรรมศึกษา การจัดพิมพ์ครั้งนี้ อาจมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นอยู่บ้าง หากท่านผู้เห็นข้อผิดพลาด กรุณาช่วยให้คำแนะนำมายังศูนย์ฯ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งเพื่อจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นในคราวจัดทำครั้งต่อไป
คำอนุโมทนา จาก พระพรหมมุนี แม่กองธรรมสนามหลวง เมื่อ 30 มิถุนายน 2546